25641105am--รักษากายและใจให้เกื้อกูลกัน

Luangpor Paisal Visalo‘s Podcast (ธรรมะ จาก หลวงพ่อไพศาล วิสาโล) - Podcast tekijän mukaan watpasukato

5 พ.ย. 64 (เช้า) - รักษากายและใจให้เกื้อกูลกัน : จิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว กายจะพลอยดีตามไปด้วย จิตที่มีสติ มีปัญญา รู้จักปล่อยรู้จักวาง ไม่ปล่อยให้กิเลส ตัณหา ราคะ โทสะครอบงำ ร่างกายก็ผ่อนคลายสุขสบาย เรียกว่าเกิดความผสมกลมกลืนเกื้อกูลกันทั้งกายและใจ แต่ถ้าใจไม่ได้รับการฝึกให้ดี ใช้กายไปในทางที่เสียหายขึ้นมา เสพ ดื่ม เที่ยว เล่น เพื่อสนองความต้องการของใจล้วนๆ พอกายป่วย สุขภาพย่ำแย่ สุดท้ายใจก็พลอยแย่ไปด้วย เพราะว่าพอกายป่วย ใจก็ป่วยไปด้วย เกิดความเครียด เกิดความห่อเหี่ยว เกิดความหงุดหงิด เกิดความวิตกกังวล เกิดความเศร้าหมอง จนบางทีถึงกับซึมเศร้า สุดท้ายก็ฆ่าตัวตาย เพราะว่าถูกทุกขเวทนาทางกายมันฉุดมันรั้ง เรียกว่าให้ย่ำแย่ไปทั้งสองฝ่าย ทั้งใจและกาย แต่พอใจฝึกไว้ดีแล้ว มันก็ช่วยกายให้มีสุขภาพดีให้แข็งแรง โดยเฉพาะใจที่รู้จักเคี่ยวเข็ญร่างกายในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กายก็ไม่ค่อยชอบ ต้องอาศัยใช้ใจที่มีความตั้งใจความเพียรอดทนในการเคี่ยวเข็ญให้กายตื่นแต่เช้า แล้วก็วิ่ง หรือว่าว่ายน้ำ หรือว่าบริหารโยคะ กายไม่ชอบ แต่พอใจเคี่ยวเข็ญให้ทำ สิ่งดีๆ ผลดีก็เกิดขึ้นกับกาย   พอกายแข็งแรง ใจก็พลอยสดชื่นแจ่มใสไปด้วย หรือถึงแม้เวลากายมันแย่เพราะความแก่ชราเพราะความป่วย แต่ว่าใจไม่เศร้าหมอง ไม่ห่อเหี่ยวเพราะฝึกไว้ดีแล้ว จากการที่ใช้กายในการภาวนา ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติ การทำสมาธิที่เรียกว่าจิตภาวนา ปัญญาภาวนา หรือว่าการฝึกใช้ตาหูจมูกลิ้นกาย เพื่อความเจริญงอกงามทางจิตใจ เรียกว่าการภาวนามันก็เกิดความสามัคคีกันขึ้นมา   สามัคคีเป็นสิ่งสำคัญ แต่เรามักจะพูดถึงความสามัคคีกับผู้คนแวดล้อม สามัคคีในครอบครัว สามัคคีในองค์กร ในหน่วยงาน แต่ว่าสามัคคีที่เป็นพื้นฐานคือ ความสามัคคีระหว่างกายกับใจ มีความราบรื่นกลมกลืนกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการฝึกจิตเป็นเบื้องต้น จิตหรือใจพากายไปในทางที่ถูกต้อง ใช้กายไปในทางที่สร้างสรรค์ แต่ถ้าจิตฝึกไว้ไม่ดี หรือว่าไม่สนใจเลย ไม่สนใจในการฝึกจิตเลย มันก็ใช้กายไปในทางที่เกิดความเสียหาย ไม่ใช่กับคนอย่างเดียว สุดท้ายก็ยังเกิดโทษทั้งต่อใจและกาย   เพราะฉะนั้น การสร้างความสามัคคีระหว่างกายกับใจ เป็นพื้นฐานเลยทีเดียว ฉะนั้น การเจริญสติ ถ้าเรามาฝึกใจให้มาตามดูรู้กาย ต่อไปมันก็จะรู้ทันความคิดและอารมณ์ ไม่ทำให้จิตกับกายแปลกแยกกัน หรือทำให้ตัวเราแปลกแยกหรือขัดแย้งกับผู้อื่นไปในทางที่เกิดโทษ เมื่อสามัคคี เกิดขึ้นกับกายและใจได้ การที่จะเกิดความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับผู้คนแวดล้อม รวมทั้งกับโลกรอบตัว มันก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น