25660702pm--สวดมนต์ให้ได้ธรรม

Luangpor Paisal Visalo‘s Podcast (ธรรมะ จาก หลวงพ่อไพศาล วิสาโล) - Podcast tekijän mukaan watpasukato

2 ก.ค. 66 - สวดมนต์ให้ได้ธรรม : จะเห็นได้ว่า การสวด สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจความหมาย แล้วก็วางใจให้ถูก อย่าทำตามรูปแบบ คนเดี๋ยวนี้ เวลาปฏิบัติไปเน้นที่รูปแบบมากกว่าตัวเนื้อหาสาระ และไม่ใช่เฉพาะเรื่องการสวดมนต์นะ แม้แต่เรื่องการปฏิบัติธรรม คนจำนวนมากก็ไปเน้นที่รูปแบบ เช่นเวลาพูดถึงการนั่งสมาธิหรือการฝึกสติ ก็นึกถึงการหลับตาตามลมหายใจ การนั่งนิ่งๆ ก็คิดได้เพียงเท่านี้  หรือถ้ามาพูดถึงการเจริญสติ หลายคนก็นึกถึงการสร้างจังหวะ เดินจงกรม แล้วเวลาจะเจริญสติก็นึกถึงแต่เรื่องการยกมือสร้างจังหวะ ทั้งๆ ที่การยกมือสร้างจังหวะนี้มันก็เป็นแค่รูปแบบ ถ้าจับเนื้อหาสาระได้หรือวางใจถูก ไม่ต้องยกมือก็ได้ คลึงนิ้ว พลิกมือไปพลิกมือมา หรือแม้กระทั่งเวลาทำกิจต่างๆ ที่มีการใช้มือ มีการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว ซักผ้า ทำครัว หั่นผัก ก็เป็นการปฏิบัติได้ หลายๆ คนไม่เข้าใจ เวลาจะเจริญสติ เอะอะอะไรก็จะยกมืออย่างเดียว ซึ่งบางทีทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่นอยู่บนรถเมล์ก็ยกมือสร้างจังหวะ เพราะคิดว่าคือการเจริญสติ ความตั้งใจก็ดีนะ คืออยากจะเจริญสติในขณะที่อยู่บนรถเมล์ ไม่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่าหรือปล่อยใจให้ลอย แต่ไม่เข้าใจว่ามันไม่ต้องยกมือก็ได้ แค่ขยับนิ้ว คลึงนิ้ว ก็สามารถจะเป็นอุบายในการเจริญสติได้ หรือตามลมหายใจแบบรู้สึกตัวเบาๆ  พอเราไม่เข้าใจจุดมุ่งหมาย ก็เลยกลายเป็นการปฏิบัติแบบสีลัพพตปรามาส คือว่าการยึดติดในรูปแบบ พิธีกรรมหรือกรรมวิธี ซึ่งรวมไปถึงศีลด้วยนะ โดยที่ไม่เข้าใจความหมาย เช่นเวลาจะสมาทานศีล ก็มีความเข้าใจจะต้องมีพระมาให้ศีล จะต้องมีการประกอบพิธีกรรมในวัด ถึงจะเรียกว่าเป็นการสมาทานศีลได้  ถ้าไม่มีพระให้ศีลหรืออยู่ที่บ้าน ทำไม่ได้ ยิ่งไม่ใช่เลยอย่างเรื่องการอุทิศบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ หลายคนเข้าใจว่าต้องมีการกรวดน้ำ ต้องมีที่หยาดน้ำ ต้องมีพระมาสวด และต้องมีสวดบท ยะถา สัพพี ฯลฯ สวดบทอื่นไม่ได้ หรือถ้าไม่มีพระสวด ก็อุทิศบุญกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไม่ได้ อันนี้ไม่เข้าใจ เรียกว่าเป็นเพราะติดในรูปแบบ ไม่เข้าใจความหมาย เป็นสีลัพพัตปรามาสแบบหยาบๆ ซึ่งตรงข้ามกับการปฏิบัติให้ถูกต้อง การปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักการหรือตามวัตถุประสงค์ ท่านเรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือการปฏิบัติอย่างถูกธรรม บางทีก็แปลว่า ธรรมน้อยคล้อยธรรมใหญ่ หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือปฏิบัติให้ถูกหลัก ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจการปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องการฝึกสติ เราก็จะรู้ว่าการสวดมนต์ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็น แต่มันช่วย ดังนั้นเวลาจะให้ลูกหลานมาสนใจธรรมะ ไม่ใช่ว่าจะต้องให้เขามาสวดมนต์หรือนั่งหลับตาทำสมาธิ ให้เขาฝึกสติจากการดำเนินชีวิตประจำวันก็ได้ ถ้าหากวางจิตวางใจเป็น ทำอะไรก็เป็นการเจริญสติ ปฏิบัติธรรมอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ก็ต้องเข้าใจให้ถูกด้วย