25661010pm--อยากก้าวหน้าอย่ากลัวหลง

Luangpor Paisal Visalo‘s Podcast (ธรรมะ จาก หลวงพ่อไพศาล วิสาโล) - Podcast tekijän mukaan watpasukato

10 ต.ค. 66 - อยากก้าวหน้าอย่ากลัวหลง : การปฏิบัติแบบนี้ “อย่าไปกลัวหลง” บางคนกลัวหลงมาก ก็เลยพยายามไปบังคับจิต ไปจ้องดูจิต เหมือนกับถ้าเราจะขี่จักรยาน ขี่ไม่เป็น จะฝึกขี่อย่ากลัวล้ม ถ้ากลัวล้ม มันจะขี่ไม่เป็น บางคนกลัวล้ม ต้องเอาล้อ 2 ล้อมายันไว้ที่ล้อหลังจะได้ไม่ล้ม มันไม่ล้มก็จริงแต่ว่ามันขี่ไม่เป็น ถอด 2 ล้อเล็กออกเมื่อไหร่ก็ล้มเมื่อนั้น จะขี่จักรยานเป็นมันก็ต้องไม่กลัวล้ม เหมือนกับคนที่จะพูดภาษาอังกฤษเป็นต้องไม่กลัวผิด คนไทยเรียนภาษาอังกฤษมาเป็นสิบปีแต่พูดไม่ได้เลย แอนดรูว์ บิ๊กส์ เป็นฝรั่งสอนภาษาอังกฤษ เขาตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษไม่ก้าวหน้าเลย เพราะกลัวผิดจึงไม่กล้าพูด กลัวผิด Grammar กลัวผิด Tense เลยไม่กล้าพูด พอไม่กล้าพูดก็เลยพูดไม่เป็น   ขณะที่บางคนเขาไม่กลัวผิด ไม่มีหน้าจะต้องรักษา ไม่กลัวเสียเซลฟ์ (self) พูดตะบันไปเลย คนแบบนี้ที่กล้าพูดโดยไม่กลัวผิดจะเรียนภาษาอังกฤษได้เร็ว ที่จริงแอนดรูว์ บิ๊กส์ เขาพูดภาษาไทยได้คล่องเพราะเขาไม่กลัวผิด พูดเรื่อยเปื่อย ผิดก็มีคนแก้ เอาผิดเป็นครู ก็เลยพูดภาษาไทยได้เร็วและสำเนียงก็ได้   ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าเราปฏิบัติแล้วเรากลัวหลง เราก็จะปฏิบัติได้ช้า เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัวหลง บางคนกลัวหลง ก็จะต้องหาทางเพ่ง เอาจิตไปเพ่งที่เท้า เอาจิตไปเพ่งที่มือ มันจะได้ไม่หลง มันจะได้ไม่ฟุ้ง บางทีไม่พอมีคำบริกรรมอีก มีการนับ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะกลัวหลง กลัวฟุ้ง   มันเหมือนกับเวลาจะข้ามท้องร่อง สมัยก่อนข้ามท้องร่องในสวน เขาใช้ไม้ไผ่แค่ลำเดียว บางคนกลัวตก ต้องมีราวเอาไว้จับ ถ้าไม่มีราวจับมีแต่ลำไม้ไผ่ล้วนๆ ไม่กล้าเดินเพราะกลัวตก การปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนเปรียบเหมือนกับการข้ามท้องร่องด้วยลำไม้ไผ่โดยที่ไม่มีราว ใหม่ๆ พอข้ามไม่ทันถึงท้องร่อง ยังข้ามไม่ทันถึง ก็ตกเสียแล้ว แต่ถ้าไม่ท้อขึ้นมาใหม่ เดินข้ามอีก แล้วก็ตกอีก ก็ไม่เป็นไร เดินข้ามบ่อยๆ เดี๋ยวก็ข้ามท้องร่องด้วยลำไม้ไผ่โดยที่ไม่มีราว   การปฏิบัตินี้ บางคนหวังพึ่งราวก็คือคำบริกรรม คือการเพ่ง คือการนับ ต้องมีราวเพื่ออะไร เพื่อจะได้ไม่ตก แต่ถ้าเราไม่กลัวตก เดินไปเลย มันจะตกก็ช่างมัน ก็กลับมาเริ่มต้นใหม่ สุดท้ายก็เดินข้ามท้องร่องลำไม้ไผ่โดยที่ไม่ต้องมีราวได้ มันเป็นความชำนาญ ที่เกิดจากชั่วโมงบิน เกิดจากการทำบ่อยๆ เหมือนขี่จักรยาน ถ้าไม่กลัวล้ม สุดท้ายก็ขี่ได้คล่อง แต่ถ้ากลัวล้ม ต้องมีคนประคอง ต้องมีล้อ 2 ล้อมาคอยยันไว้ที่ล้อหลัง ไม่ล้มก็จริงแต่ว่าขี่ไม่เป็นหรือขี่ได้ช้า   ฉะนั้นการปฏิบัติแบบนี้อย่าไปกลัวหลง อย่าไปกลัวฟุ้ง อนุญาตหรือให้โอกาสสติได้ทำงานแล้วก็จะมีสติรู้ทัน แล้วเกิดความรู้สึกตัวได้เร็ว เร็วแบบชนิดที่เรียกว่าไม่ทันตั้งตัวเลย อย่างไม่คาดคิด